จุดยืนของชมรมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ....

ชมรมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรผู้ปฏิบัติงานและให้ความรู้ด้านสุขภาพและโภชนาการเด็ก เห็นด้วยกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. .... นี้ ที่ต้องการส่งเสริมให้ทารกไทยได้รับนมแม่ เพราะเป็นที่ยอมรับทางวิทยาศาสตร์แล้วว่านมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก การมีกฎหมายนี้จะช่วยลดการส่งเสริมการขายที่ไม่เหมาะสม และจะทำให้ทารกไทยได้รับประโยชน์จากนมแม่อย่างเต็มที่ แต่ยังมีข้อห่วงใยเกี่ยวกับรายละเอียดของร่างพระราชบัญญัตินี้บางประการที่มีปัญหาในทางปฏิบัติ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ การเจริญเติบโต และพัฒนาการของเด็ก และอาจจำกัดสิทธิทางวิชาการ การให้ความรู้ และการวิจัย ซึ่งส่งผลเสียต่อการพัฒนาองค์ความรู้ของประเทศ ดังนี้

๑. ร่างพระราชบัญญัตินี้ครอบคลุมไปถึงเด็กอายุสามปี ดังแสดงในนิยาม “เด็กเล็ก” ตามมาตรา ๓ ซึ่งชมรมฯ เห็นว่าไม่เหมาะสม ควรจะครอบคลุมเพียงทารกอายุไม่เกินหนึ่งปี ซึ่งจะได้ประโยชน์จากนมแม่มากที่สุด สำหรับเด็กอายุเกินหนึ่งปีขึ้นไปควรกินอาหารที่มีลักษณะใกล้เคียงกับอาหารผู้ใหญ่ เป็นอาหารหลัก ๓ มื้อ ครบ ๕ หมู่ (เช่น ข้าว เนื้อสัตว์ ไข่ ผัก น้ำมันพืช ผลไม้ เป็นต้น) นมไม่ใช่อาหารหลักสำหรับเด็กวัยนี้ ส่วนที่เกรงว่าจะมีการโฆษณานมผงสำหรับเด็กเกินหนึ่งปีให้อ้างอิงไปถึงนมผงทารกนั้น (cross promotion) ก็มีพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ในมาตรา ๔๐ ๔๑ และ ๔๒ เป็นเครื่องมือที่ใช้ควบคุมได้อยู่แล้ว

๒. ทารกบางรายซึ่งจำเป็นต้องกินอาหารทางการแพทย์หรืออาหารอื่นที่ไม่ใช่นมแม่ เช่น ทารกที่มีโรคซึ่งมีความผิดปกติเกี่ยวกับกระบวนการสร้างหรือสลายสารในร่างกายแต่กำเนิด (inborn error of metabolism) ทารกเกิดก่อนกำหนดหรือน้ำหนักตัวน้อย ทารกที่มารดาติดเชื้อ HIV ทารกป่วยโรคหัวใจ ปอด ตับและท่อน้ำดี ตับอ่อน ลำไส้ ทารกที่แพ้นมวัว (ซึ่งอาจผ่านทางน้ำนมแม่ได้) ทารกและเด็กที่มีแผลน้ำร้อนลวกหรือไฟไหม้ โรคลมชักที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยา (refractory epilepsy) ทารกและเด็กที่มีภาวะน้ำเหลืองไขมันปนรั่วในช่องปอด/ช่องท้อง/ทางเดินปัสสาวะ (chylothorax/chyloperitoneum/chyluria) ทารกและเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการ ฯลฯ ทารกเหล่านี้ต้องใช้อาหารทางการแพทย์หรืออาหารสำหรับทารกที่มีวัตถุประสงค์พิเศษเพื่อช่วยรักษาชีวิต ควรระบุข้อยกเว้นเรื่องนี้ให้ชัดเจน

๓. บทบัญญัติบางประการในร่างกฎหมายนี้กระทบต่อการให้ความรู้และการศึกษาวิจัยด้านอาหารทารก จึงควรเพิ่มข้อยกเว้นการปฏิบัติด้านการให้ความรู้และศึกษาวิจัยให้ชัดเจน

๔. ร่างพระราชบัญญัตินี้มีเจตนารมณ์เพื่อห้ามการปฏิบัติทางการค้าที่ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงทารกด้วยนมแม่ แต่ในหลายส่วนของร่างพระราชบัญญัติฯ ไม่ชัดเจน เช่น ในนิยาม "ผู้ผลิต" ทำให้การกระทำอันไม่ได้มีวัตถุประสงค์ทางการค้าอาจขัดต่อกฎหมายได้ จึงเสนอให้กำหนดยกเว้นการกระทำที่ไม่ใช่เพื่อการค้าให้ชัดเจน

๕. โครงสร้างของคณะกรรมการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก (คสตท.) ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายนี้และมีอำนาจค่อนข้างมาก อาจไม่สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งมีทั้งแง่มุมด้านวิชาการสุขภาพและแง่มุมด้านสังคม ทำให้ปฏิบัติหน้าที่อาจไม่ทั่วถึงและมีข้อมูลไม่ถูกต้องรอบด้าน ควรมีการปรับโครงสร้างของคณะกรรมการดังกล่าว

(ผู้สนใจสามารถ download สำเนาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ที่นี่)